esWizardry embedded system, programming and fascinating things.

แกะกล่อง Arduino UNO


บล็อกก่อนหน้าผมได้เขียนแนะนำเกี่ยวกับ Arduino ไปแล้ววันนี้จะมาแนะนำบอร์ดอย่างเป็นทางการจาก Arduino ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตอนนี้คือเจ้า Arduino UNO

UNO ในภาษาสเปนกับอิตาเลียนนั้นแปลว่า One ในภาษาอังกฤษ หรือ หนึ่งในภาษาไทยนั่นเอง


บอร์ด Arduino UNO นั้นเป็นบอร์ดที่ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2010 แต่ด้วยความที่ตัวผมเองทำงานด้านนี้อยู่แล้วและมองว่า Arduino เป็นแค่ของเล่นหรือสำหรับมือใหม่ก็เลยไม่ได้สนใจที่จะหามาลองเล่นจนแต่ช่วงนี้ว่างๆ และเห็นพัฒนาการของ Arduino ผ่านมามากกว่าห้าปีแล้วและคิดว่า มันมีอะไรดี จึงลองหามาเล่นซักหน่อย


uno-box

ภายในกล่องมีอะไรบ้าง

  • ครั้งแรกที่ผมได้รับพัสดุเจ้า Arduino และเจอกับกล่องผมก็ประหลาดใจเล็กน้อยเพราะว่ามันมีขนาดเล็กกว่าที่ผมคิดไว้พอสมควร


uno-inpalm

  • ภายในกล่องก็จะประกอบไปด้วยตัวบอร์ด แผ่นพับที่มีข้อความขอบคุณ และสติ๊กเกอร์ Arduino


uno-unbox

ฮาร์ดแวร์ของ UNO

  • UNO นั้นใช้ Atmega328 (มีหน่วยควมจำแบบ Flash 32kB ใช้เป็น bootloader ไป 0.5kB, SRAM 2kB และ EEPROM อีก 1kB) เป็นไมโครคอนโทรลเลอร์หลักซึ่งใช้แพ็คเกจแบบ DIP ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาเช่นเวลาที่เราต้องการนำชิปที่ถูกโปรแกรมไปใช้ในบอร์ดอื่น หรือเวลาที่ชิปเสียเราก็สามารถที่จะหาซื้อชิปมาเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ

  • มี I/O ให้ใช้งานทั้งหมด 20 ขา (แบ่งเป็นดิจิตอล I/O 16 ขา และ อินพุตแบบแอนาล็อกอีก 6 ขา) ใช้คริสตัลความถี่ 16 MHz มี USB คอนเน็คเตอร์แบบ B, หัวต่อ DC adaptor, พอร์ตสำหรับโปรแกรมแบบ ICSP, และสวิตช์สำหรับรีเซ็ท

  • ตัวบอร์ดสามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟได้โดยอัตโนมัติระหว่างจากพอร์ต USB และแหล่งจ่ายภายนอก แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามันยังขาดอยู่ก็คือสวิตช์เปิดปิดซึ่งไม่มีเราต้องทำการเปิดปิดโดยการดึงปลั๊กหรือถอดสาย USB เท่านั้น

  • อ้อเกือบลืมอีกอย่างว่าบนบอร์ดนั้นยังประกอบไปด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์อีกตัวหนึ่งคือ Atmega16U2 ซึ่งทำหน้าที่เป็น USB-to-Serial convertor


ทดลองจ่ายไฟ

จากนี้ไปเราก็มาลองจ่ายไฟให้กับเจ้าบอร์ด UNO กันครับการจ่ายไฟให้กับบอร์ดที่ง่ายและถูกที่สุดก็ผ่านสาย USB นั่นแหละครับโดยใช้สาย USB ที่มีหัวต่อเป็นแบบ type A-to-B ครับ


uno-cable

หลังจากเราเสียบสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์และบอร์ดเรียบร้อยแล้วให้สังเกตว่าจะมี LED สีส้มกระพริบถี่ๆ ประมาณ 2-3 วินาทีจากนั้นก็จะกระพริบทุกๆ ครึ่งวินาทีนั้นก็คือโปรแกรมที่ถูกติดตั้งมาจากโรงงานครับโดย LED สีส้มนั้นจะถูกต่อกับดิจิตอล I/O ขาที่ 13

สำหรับการแกะกล่อง Arduino UNO ก็จบเพียงแค่นี้ครับ เดี๋ยวไว้ว่างๆ จะมานำเสนอเกี่ยวกับการใช้งาน